ไส้กรอง RO ยี่ห้อไหนดี

เครื่องกรองน้ำ RO แบบที่นิยมใช้กันตามบ้านอาศัยทั่วๆ ไปคือแบบ 5 ขั้นตอน ซึ่งก็คือมี 5 ไส้กรองนั่นเอง แต่คำถามก็คือ ไอ้ 5 ไส้กรองนั่นนะ มีอะไรบ้าง แต่ละแบบแตกต่างกันยังไง จะต้องซื้อยี่ห้อไหนมาเปลี่ยน ในโพสนี้ผมจะพยายามอธิบายแบบคร่าวๆ ให้ได้เข้าใจกัน ลองอ่านดูได้เลยครับ

ชั้นที่ 1: ไส้กรองหยาบ (Sediment Filter)

เป็นด่านแรกของเครื่องกรองน้ำ ทำหน้าที่คอยกรองฝุ่น ตะกอนและสารแขวนลอย ต่างๆ ที่ติดมากับน้ำ เพื่อยืดอายุการใช้งานของไส้กรองชั้นถัดๆ ไป หลักๆ มีอยู่ 2 ชนิดที่มักจะใช้กันคือแบบใยสังเคราะห์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ไส้กรอง PP (ย่อมาจาก Polypropylene) กับอีกแบบหนึ่งคือไส้กรองเซรามิค ถามว่าต่างกันยังไง โดยปกติ PP จะมีราคาที่ถูกกว่า กรองได้ละเอียดน้อยกว่า โดยความละเอียดที่กรองได้จะอยู่ที่ประมาณ 1-10 ไมครอน (ยกเว้นรุ่นแพงมากๆ จะกรองได้ละเอียดถึง 0.45 ไมครอน) ส่วนไส้กรองเซรามิคจะกรองได้ประมาณ 0.5 ไมครอนตั้งแต่รุ่นถูกสุด

ถามว่าเลือกใช้อันไหนดี ขอตอบว่าหากจะนำมาใช้กับเครื่องกรองน้ำ RO ควรใช้แบบ PP มากกว่า เพราะเซรามิคนั้นน้ำไหลผ่านได้น้อย ล้างยาก ไส้กรองตันเร็ว ทำให้ปั๊มน้ำในระบบต้องทำงานหนักตลอดเวลา และอาจทำให้ระบบรวนได้ ไส้กรอง PP มีราคาที่ถูกกว่า (ประมาณ 20-30 บาท) ดังนั้นสามารถเปลี่ยนได้บ่อยๆ ส่วนเรื่องความสะอาดไม่ต้องกังวล เพราะยังไงก็ตามสิ่งแปลกปลอมจะต้องถูกกรองในไส้กรอง RO ที่ละเอียดกว่าอยู่แล้ว ไส้กรองชั้นนี้เป็นเพียงการกรองหยาบเพื่อยืดอายุไส้กรองละเอียดเท่านั้น

อายุการใช้งานประมาณ 3-6 เดือน แต่บางบ้านใช้น้ำประปาสะอาด อาจจะใช้วิธีล้างเอาและใช้ได้ถึง 1 ปี

ไส้กรอง RO PP

ชั้นที่ 2: ไส้กรองคาร์บอน  (Activated Carbon Filter)

เป็นด่านที่สองของเครื่องน้ำ ทำหน้าที่กรองกลิ่น สี รส และสารอินทรีย์ต่างๆ เช่นสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ไส้กรองคาร์บอนจะผลิตจากถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) มีใช้กันหลักๆ 2 แบบคือ แบบเกล็ด (Granule Activated Carbon) หรือนิยมเรียกว่า GAC ลักษณะจะเป็นแบบกระบอกพลาสติก มีทางน้ำเข้าออกที่หัวท้ายดังในรูป

ไส้กรอง RO GAC

ส่วนอีกแบบคือแบบแท่ง (Carbon Block) บางครั้งคนเรียกไส้กรองประเภทนี้ว่า ไส้กรอง CTO (ย่อมาจาก Color, Taste, Odor) ลักษณะจะเป็นแท่งคาร์บอน ด้านนอกมีแผ่นกรองบางๆ อีกชั้นหุ่มด้วยตาข่าย

ไส้กรอง RO มีกี่ชนิด CTO

ถามว่าต่างกันยังไง แบบเกล็ดจะกรองได้หยาบกว่า แต่ให้อัตราการไหลที่ดีกว่าแบบแท่ง ถ้าหากที่บ้านน้ำสกปรกมีกลิ่นแรงก็ควรใช้แบบแท่ง แต่ถ้าน้ำสะอาดอยู่เดิมแล้วจะใช้แบบ GAC ก็จะลดภาระการทำงานของปั๊มน้ำได้

อายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน แต่บางบ้านใช้น้ำประปาสะอาด อาจใช้ได้ถึง 1 ปี

ชั้นที่ 3: ไส้กรองปรับสภาพน้ำ (เลือกได้อิสระ)

ไส้กรองชั้นที่ 3 เราสามารถเลือกได้อิสระว่าจะใช้แบบไหน เครื่องกรองน้ำหลายรุ่นนิยมใช้ไส้กรองคาร์บอนอีกชั้นนึง เพื่อการกรองกลิ่น สี รสให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นบ้านผมก็จะใช้ ชั้นที่ 1 เป็นไส้กรอง PP ชั้นที่ 2 เป็นแบบเกล็ด (GAC) และชั้นที่ 3 เป็นแบบแท่ง (Block) แต่ในขณะที่บางบ้าน น้ำดิบที่เข้ามาอาจมีความกระด้างสูง (มีหินปูนมาก) ซึ่งต้องใช้ไส้กรองเรซิ่น (Resin Filter) ช่วย ไส้กรองชั้นที่ 3 นี้แล้วแต่การใช้งานของแต่ละบ้านเลย ไม่มีข้อบังคับตายตัว หน้าตาของไส้กรองเรซิ่นจะคล้ายๆ กับไส้กรองคาร์บอนแบบเกล็ดคือเป็นกระบอกพลาสติก เพื่อไม่ให้สับสนจึงนิยมให้เป็นสีเหลือง

ชั้นที่ 4: ไส้กรองเมมเบรน RO (RO Membrane)

ไส้กรองนี้คือหัวใจของเครื่องน้ำ RO สามารถกรองได้ละเอียดที่สุดถึง 0.0001 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมประมาณ 500000 เท่า) ซึ่งกรองได้ถึงระดับแบคทีเรียและไวรัส และสิ่งแปลกปลอมทุกอย่าง ด้วยความที่ไส้กรองมีความละเอียดมาก จึงต้องมีปั๊มน้ำคอยสร้างแรงดัน น้ำที่ผ่านไส้กรอง RO จะได้น้ำดีออกมาใช้จริงแค่ประมาณ 30% ส่วนอีก 70% ที่เหลือจะไหลทิ้งหมด (ยื่งไส้กรองเสื่อมสภาพ ปริมาณน้ำทิ้งจะยิ่งเยอะขึ้น)

ไส้กรอง RO มีหลายยี่ห้อมาก แต่เจ้าที่เป็น Original และมีคุณภาพที่เชื่อถือได้แน่นอนคือรุ่น Filtec ของ Dow Chemical (นำเข้าจากอเมริกา) ส่วนของ Ultratek และ Colandas นั้นจะเป็นเกรดรองลงมา ราคาก็จะถูกกว่าพอสมควร ใช้งานได้ดีเหมือนกัน แต่สำหรับผม ถ้าจะให้แนะนำควรลงทุนใช้ของดีหน่อย เนื่องจากเป็นไส้กรองชั้นที่สำคัญที่สุด ชั้นอื่นพลาดไม่เป็นไร แต่ถ้าชั้นนี้พลาดคือน้ำไม่สะอาดทันที

ไส้กรองน้ำ RO มีอะไรบ้าง

อายุการใช้งานประมาณ 1-1.5 ปี ถ้าน้ำดิบสะอาดอาจได้ถึง 2 ปี

ชั้นที่ 5: ไส้กรองปรับรสชาติน้ำ (Inline Filter)

เป็นไส้กรองชั้นสุดท้ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสะอาด แต่เป็นการปรับรสชาติ และ pH ของน้ำให้บริสุทธิ์ ลักษณะจะเป็นกระเปาะ (บางคนเรียกแคปซูล) ข้างในจะเป็นคาร์บอนอัดแท่งที่ทำจากกากมะพร้าว ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า Post-Carbon Filter บางคนอาจสงสัยว่า จะต้องมีทำไมในเมื่อไส้กรองเมมเบรนก็สามารถกรองได้สะอาดอยู่แล้ว คำตอบก็คือเมมเบรนกรองสารละลายทุกชนิดได้จริง แต่ไม่สามารถกรองก๊าซที่ปนอยู่ในน้ำได้ เช่น ถ้าเราเอาน้ำโซดาที่อัดแก๊ส CO2 มาผ่านเมมเบรน น้ำก็ยังจะซ่าอยู่ ไส้กรอง post-carbon จะทำหน้าที่ดูดซับก๊าซใดๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำ และทำให้รสชาติน้ำเปลี่ยน

ไส้กรอง RO มีอะไรบ้าง

อายุการใช้งานประมาณ 1-1.5 ปี

ไส้กรองน้ำ RO ยี่ห้อไหนดี

สมัยก่อน เครื่องกรองน้ำ RO มีราคาแพง ทำให้บางคนนิยมใช้ไส้กรองเกรดต่ำ เพื่อลดต้นทุน แต่ในปัจจุบันราคาถูกลงมาก ทำให้เรามีตัวเลือกเยอะขึ้น สำหรับยี่ห้อไส้กรองที่เป็นที่นิยมและคุ้นหูในประเทศไทยก็คือ Omnipure (USA), Colandas และ Aquatek การใช้งานดีพอๆ กัน สามารถใช้งานเกินปีได้ถ้าน้ำดิบไม่สกปรก แต่ถ้างบไม่จำกัด ยี่ห้อ Dow คือไส้กรองเกรด A ส่วนยี่ห้ออื่นๆ อาจจะใช้งานได้ แต่ถ้าราคาถูกมากๆ ก็ควรระวังไว้ เครื่องกรองน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากเรากินน้ำทุกวัน ถ้าคุณไม่มีปากกาวัดค่าความสะอาดของน้ำ (ผมเคยเขียนรีวิวไว้) ก็อย่าใช้ไส้กรองโนเนมราคาถูก

Xiaomi-TDS-pen-review-13

เพราะวันดีคืนดีไส้กรองเมมเบรนฉีกขาด หรือมีสารเจือปนจากการผลิตเราจะไม่รู้เลย

จบแล้วครับสำหรับเรื่องไส้กรอง RO คราวหน้าผมจะเขียนเกี่ยวกับขั้นตอนการเปลี่ยน รอหน่อยนะครับ

อย่าลืมติดตามบทความจากบล็อกนี้จากได้ทาง Facebook Page บล็อกนายช่าง และกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีแรงทำบล็อกนี้ต่อไปด้วยนะครับ