วิธีเปลี่ยนไส้กรองน้ำ RO

ในตอนที่แล้วผมได้เขียนเกี่ยวกับชนิดของไส้กรอง RO ว่ามีกี่แบบ ในโพสนี้จะเขียนต่อถึงขั้นตอนการเปลี่ยนไส้กรอง RO แบบ 5 ขั้นตอนด้วยตัวเอง ไม่ยากครับ นอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว เรายังสามารถเลือกชนิดและเกรดของไส้กรองให้เหมาะกับการใช้งานของเราเองได้อีกด้วย ลองอ่านดูได้เลยครับ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

1. ปากกาวัดค่าน้ำ TDS (ผมเคยเขียนรีวิววิธีใช้ไว้แล้วในโพสนี้)
2.เทปพันเกลียว
3.สายยาง 1/4 นิ้ว หรือ 2 หุน (เผื่อไว้เฉยๆ กรณีมีอะไรรั่ว สายแตกตอนเปลี่ยนไส้กรอง ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไร ก็ไม่ต้องใช้)

อุปกรณ์เปลี่ยนไส้กรอง RO

ขั้นตอนการเปลี่ยนไส้กรอง

1. ถอดปลั๊กเครื่องกรองน้ำ และปิดวาล์วน้ำที่ถังเก็บน้ำ

2. ปิดวาล์วน้ำที่เข้าเครื่องกรอง

3. ถอดกระบอกไส้กรองโดยใช้ประแจขันที่มาพร้อมกับเครื่องกรองน้ำ เริ่มจากอันแรกสุดคือไส้กรอง PP (ถ้าใครสงสัยว่าไส้กรองอันไหนก็คืออะไร ให้ไปอ่านในโพสนี้ ผมอธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วครับ)

4. เทียบกันให้ดูความสกปรกของอันเก่า และอันใหม่ 555

วิธีเปลี่ยนไส้กรอง pp

5. ถอดกระบอกไส้กรอง GAC และใส่ไส้กรองอันใหม่ลงไป

วิธีเปลี่ยนไส้กรองน้ำ carbon

6. ถอดกระบอกไส้กรอง CTO อันสุดท้ายและเปลี่ยนอันใหม่

7. ถอดไส้กรอง Post Carbon ออกจากตัวหนีบ ใช้วิธีดึงขึ้นมาทีละข้าง ไม่ต้องกลัวหัก

8. จากนั้นให้หมุนออกจากเกลียวทั้งสองด้านก้จะถอดออกมาได้

9. ดึงกระบอกไส้กรองเมมเบรนออกจากขาหนีบเหมือนกัน และถอดสายน้ำเข้าออก (อีกด้านไม่ต้องถอดก็ได้ถ้าไม่เกะกะ)

10. เปิดฝาเมมเบรนโดยใช้วิธีหมุนแบบเปิดฝาขวด ตรงนี้ต้องใช้แรงนิดนึง จับแน่นๆ บิดแรงๆ โดยใช้มือ

ขั้นตอนเปลี่ยนไส้กรองเครื่องกรองน้ำ RO

11. ใช้มือ หรือคีมก็ได้ ดึงไส้กรองเมมเบรนออกมา

วิธีเปลี่ยนไส้กรองน้ำ RO

12. ถ้ามีฟองน้ำล้างขวดก็ให้เช็ดทำความสะอาดข้างในกระบอก จากนั้นใส่ไส้กรองอันใหม่เข้าไป ไส้กรองนี้คือหัวใจของเครื่องกรองน้ำ RO น้ำจะสะอาดแค่ไหนขึ้นอยู่กับไส้กรองนี้มากที่สุด ดังนั้นควรเลือกซื้อยี่ห้อดีๆ หน่อย ของผมใช้ยี่ห้อง Dow รุ่น Filmtec จาก America เป็นเจ้าเก่าแก่ดังเดิม ราคาแพงหน่อยแต่คุ้ม

วิธีเปลี่ยนไส้กรองเมมเบรน RO

13. ปิดฝากระบอกเมมเบรนและใส่กลับเข้าไปตามเดิม จากนั้นเราจะมาเปลี่ยนไส้กรอง Post Carbon กัน ภาพข้างล่างคือไส้กรอง Post Carbon อันใหม่ สังเกตว่าจะมีฝาพลาสติกปิดรูน้ำเข้าออกไว้ ให้แกะออก

วิธีเปลี่ยนไส้กรอง post filter

14. เอาเทปพันเกลียวพันข้อต่อกันที่จะหมุนไส้กรอง Post Carbon เข้าไป เพื่อกันน้ำรั่วซึม

15. อีกข้างก็ทำเช่นกัน

16. นี่คือภาพหลังเปลี่ยนไส้กรองทุกอันหมดแล้ว แต่ผมจะยังไม่ใส่มันกลับเข้าตัวหนีบ ผมจะปล่อยไว้ก่อน เพื่อดูว่ามีตรงไหนน้ำรั่วไหม

กระบอกไส้กรอง RO

17. เปิดวาล์ว bypass ไส้กรองเมมเบรน จากนั้นเปิดวาล์วน้ำดีให้ไหลเข้าเครื่องกรอง และเสียบปลั๊กเครื่อง ขั้นตอนนี้จะเป็นการล้างไส้กรองหยาบทั้ง 3 ตัวข้างล่างก่อนการใช้งาน ถ้าเราไม่ทำ พวกเศษฝุ่น ตะกอนผงถ่าน จะฟุ้งกระจายไปติดอยู่ที่ไส้กรองเมมเบรน ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งสัก 10 นาที (วาล์ว Bypass เมื่อเปิด น้ำจะไหลผ่านไส้กรองหยาบ 3 ตัว แล้วไหลออกทางท่อน้ำทิ้งทันที จะไม่ผ่านเมมเบรนและ Post Carbon ดังนั้นจะไม่มีน้ำไหลออกทางก๊อกน้ำกรองในขั้นตอนนี้)

วาล์วล้างเมมเบรน RO

18. หลังจากปล่อยน้ำทิ้งเสร็จแล้ว ให้ปิดวาล์ว Bypass และเปิดวาล์วน้ำที่ถัง พร้อมกับเปิดก๊อกน้ำกรอง ต่อไปนี้เราจะเริ่มทำการล้างไส้กรองเมมเบรนและ Post Carbon

19. น้ำสีดำที่เต็มไปด้วยผงถ่านจะพุ่งออกมาทางก๊อกน้ำกรอง ไม่ต้องตกใจ ผงถ่านที่เห็นนั้นมาจากไส้กรอง Post Carbon อันใหม่นั่นเอง ปล่อยให้น้ำไหลออกไปเรื่อยๆ จนหมดถัง (สังเกตได้จากนั้นไหลอ่อยลง) จากนั้นปิดก๊อกน้ำเพื่อปล่อยให้น้ำไหลเข้าถังจนเต็มอีกครั้ง (สังเกตได้จากปั๊มเครื่องกรองหยุดทำงาน) จากนั้นก็เปิดให้น้ำไหลออกออกจนหมดถังอีก ทำแบบนี้ให้ครบ 3 ครั้ง (เท่ากับใช้น้ำ 3 ถัง)

20. ลองวัดค่า TDS ด้วยปากกา ถ้าไส้กรองดีมีคุณภาพ ค่าที่ได้ไม่ควรเกิน 10 ppm

TDS น้ำ RO

21. ตรวจดูการรั่วซึม หากไม่มีอะไรก็เสร็จสิ้นการเปลี่ยนไส้กรอง RO ด้วยตัวเองครับ 🙂

คำแนะนำ

การเปลี่ยนไส้กรองหยาบอันใหม่ เราต้องล้างไส้กรองโดยการเปิด Bypass วาล์วเสมอ เพราะเวลาโรงงานผลิต จะมีฝุ่นละอองปนมาด้วย ถ้าเราไม่ล้างแล้วไปใช้งานเลย สิ่งสกปรกจะไปติดที่เมมเบรนแทน ทำให้ตันเร็วขึ้น

สำหรับการวัดค่า TDS หลังเปลี่ยนไส้กรองใหม่ทั้งชุด ควรวัดหลังจากเราทำการล้างไส้กรองเมมเบรนและ Post Carbon เสร็จสิ้นแล้ว เพราะถ้าไปวัดก่อน ค่าจะสูง จะทำให้เข้าใจผิดได้

อย่าลืมติดตามบทความจากบล็อกนี้จากได้ทาง Facebook Page บล็อกนายช่าง และกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีแรงทำบล็อกนี้ต่อไปด้วยนะครับ