scbs-global-trade-review-5

ช่วงนี้ไปที่ไหนมีแต่คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งคราวนี้ถ้าลองวิเคราะห์ดู เห็นที่จะไม่ใช่แค่คำบ่นแบบทั่วๆ ไป ตัวเลขการส่งของของเดือนมิถุนายน -8.7% การนำเข้า -9.4% ทั้งๆ ที่บาทแข็งมาก บรรดาเพื่อนๆ ที่ทำงาน หรือมีคนรู้จักในแวดวงต่างๆ เช่น การค้าปลีก (ทั้ง Offline/Online) การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ซบเซามาก ในขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรที่ชัดเจน ล่าสุดประกาศงบการเงิน Q2 ของกลุ่มธนาคารก็พบว่ากำไรหดลงเป็นแถว

โดยสรุป การลงทุนในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ถือว่าบรรยากาศไม่ดีเอาซะเลย

(Note: บทความในโพสนี้จะเกี่ยวกับการเปิดพอร์ต ถ้าสนใจเกี่ยวกับวิธีการเทรด ผมได้เขียนตอนใหม่ไว้ที่นี่ครับ)

เทรดหุ้นต่างประเทศดีกว่า

จากที่เกริ่นมา การลงทุนต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากมีตัวเลือกที่มากกว่า ประกอบกับช่วงนี้เงินบาทแข็งมาก เป็นโอกาสที่ดี (โดยส่วนตัว อยากจะเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศหลายปีแล้ว แต่ตอนนั้นหุ้นไทยยังโอเคกว่านี้และสามารถทำกำไรได้ไม่น่าเกลียด)

วันนี้เลยลองหาข้อมูลดูว่าจะเปิดโบรคไหนที่ให้ค่าคอมถูกสุด ก็พบกับโฆษณาของ SCBS Global Trade เค้าโม้ไว้หลายข้อ แต่ที่น่าสนใจสุดก็คือ

  • ไม่มีขั้นต่ำ
  • อนุมัติภายใน 10 นาที
  • ไม่ต้องใช้เอกสาร
  • โอนเงินออกไม่คิดค่าธรรมเนียม
  • ค่าคอมถูก

scbs-global-trade-review-1

ห๊ะ? เอกสารก็ไม่ต้องใช้ ค่าคอมก็ถูก ขั้นต่ำก็ไม่มี โอนเงินก็ฟรี มันจะดีเกินไปแล้วมั้ง?

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ปกติเทรดหุ้นไทยกับ SCBS มา 8 ปีแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร บริการก็เป็นที่น่าพอใจ ก็ลองสมัครดู

ขั้นตอนการสมัคร

1) สมัครได้ผ่าน SCB Easy App (จริงๆ เห็นว่าสมัครที่สาขาได้ แต่รีวิวนี้จะลองผ่าน App ดู) ขั้นตอนโดยละเอียดก็ไปดูเองที่หน้าเว็บ SCBS (จริงๆ ก็แค่กดเข้าหน้า SCBS Investment แล้วกด Open Account จากนั้นทำตามขั้นตอนบนหน้าจอไปเรื่อยๆ)

2) หลังจากนั้นประมาณ 5 นาทีก็จะได้เมลมา 3 เมล แจ้งผลการอนุมัติและรหัสผ่านเข้าพอร์ตหุ้นไทย และต่างประเทศ

scbs-global-trade-review-3

3) เมื่อลอง login เข้าไปก็จะพบกับ Web App สำหรับ Trade หน้าตาแบบนี้

scbs-global-trade-review-5

เอ๊ะก็ไวจริง สะดวกอย่างที่โม้ไว้นี่นา แบบนี้ก็ดีสิ? ช้าก่อนพี่น้อง รีวิวยังไม่จบ

ยังเทรดไม่ได้ทันที

คือหลังจาก login เข้าไปคุณจะต้องทำการฝากเงินเข้าพอร์ต แต่สังเกตที่ข้อมูลบัญชีเรา จะขึ้นสกุลเงินว่า HKD (ฮ่องกงดอลล่าร์) ซึ่งเปลี่ยนเป็นสกุลอื่นไม่ได้ เหมือนถูกล็อคเอาไว้

scbs-global-trade-review-6

คือที่สมัครมาเนี่ยอยากจะเทรดตลาดอเมริกา (อยากจะซื้อ Google Facebook Tesla ไว้ไปโม้กับชาวบ้านเค้าบ้างอะไรบ้าง)

เลยโทรไปถามมาร์ ได้คำตอบว่าการจะเทรดตลาดอเมริกา จะมีขั้นตอนการสมัครและเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมต่างหาก…. สมัคร Online ไม่ได้ ต้องเซ็นเอกสารแล้ว scan ส่งทางเมลเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยก่อน จากนั้นค่อยส่งตัวจริงไปที่โบรคเกอร์ จากนั้นรอดำเนินการอีก 1-2 วัน ถึงจะสามารถโอนเงินเข้าพอร์ตที่เป็น USD ได้ ซึ่งขั้นตอนในการโอนเงินเข้าพอร์ตก็จะต้องใช้เวลาอีก 1 วัน

สรุป 10 นาทีที่โฆษณาไว้คือแค่การอนุมัติ เทรดตลาดต่างประเทศได้จริงคือรอ 2-3 วัน กว่าเอกสารตัวจริงจะถูกส่งไปถึง จริงๆ ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะจู่ๆ การที่จะไปเทรดต่างประเทศ มันควรจะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ต้องการลายเซ็นต์ของเราพอสมควร อย่างน้อยก็คือเอกสารทางภาษีหรือ W-8 Form ที่จะต้องยื่นให้ IRS (สรรพากรอเมริกา) ถ้าหากทุกอย่างทำผ่าน online ได้หมดสิน่าแปลกใจ

ค่าธรรมเนียมไม่ได้ฟรีทั้งหมด

การแลกเงินไม่มีค่าธรรมเนียมจริง “เฉพาะค่าออก” หมายถึงตอนคุณโอนเงินเข้าพอร์ตเป็นเงินบาท แล้วแปลงไปเป็น USD อันนี้ฟรี โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้คือดูจาก SCB Exchange Rate ช่อง Bank Sell D/D & T/T แต่เวลาแลกเงินกลับมา จะเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท 5555+

scbs-global-trade-review-2

นอกจากนี้ อย่างที่เกริ่นไว้ข้างบน ถ้าคุณจะเทรดตลาดอเมริกา จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเอกสารทางภาษี 2000 บาท/ 3 ปี เรียกว่า GlobeTax ซึ่งตรงนี้เป็นบริการอำนวยความสะดวกให้กับเราในการยื่นเอกสารภาษีและเงินปันผลประจำปี บางโบรคอาจจะให้คุณยื่นเองได้ แต่บอกเลยว่า จ่ายๆ ไปเถอะ ตกปีละ 700 สะดวกกว่ากันเยอะ

ค่าคอมขั้นต่ำไม่ได้ถูก

ค่าคอมในการเทรดหุ้นอเมริกา ส่วนใหญ่จะคิดเป็น “ต่อจำนวนหุ้น” เช่น 8 cps (8 cents per share) ซึ่งถือว่าถูกมากๆ หากซื้อเยอะๆ (หลายๆ ล้านต่อหนึ่งเทรด) แต่เนื่องจาก เราเป็นนักลงทุนรายยุ่ย  ซื้อขายไม่เยอะมากเราจึงสนใจค่าคอมขั้นต่ำเป็นหลัก (ค่าคอมขั้นต่ำต่อหนึ่งเทรด ไม่ว่าจะซื้อกี่หุ้น หรือมูลค่าเท่าไหรก็ตาม) ซึ่งจากการสำรวจพบว่า SCBS มีค่าคอมขั้นต่ำสูงที่สุดในกลุ่มที่สำรวจมา – -‘ (*** สำรวจ ณ วันที่ 7/23/2019) ดังนั้นหากคุณเป็นพวกพอร์ตเล็กเทรดบ่อยๆ ซื้อเช้าขายบ่าย อาจจะไม่คุ้มค่าคอม

  • SCBS 30 USD
  • Kim Eng 600 บาท (ประมาณ 20 USD)
  • Kbank 25 USD
  • Nomura 20 USD
  • BLS 20 USD
  • AIRA 10 USD
  • DBS 26.75 USD

พูดถึงข้อเสียมาเยอะแล้ว พูดถึงข้อดีบ้าง เดี๋ยว SCB จะน้อยใจ

ค่าคอมถูกกว่าถ้าพอร์ตใหญ่

เนื่องจาก SCBS คิดค่าคอมเป็นต่อหุ้น และหุ้นอเมริกาส่วนใหญ่มีราคาต่อหุ้นแพง (เช่น Amazon ราคาหุ้นละ $2000) ทำให้ลูกค้าพอร์ตใหญ่ๆ จะคุ้มกว่าโบรคเกอร์บางเจ้าที่คิดค่าคอมเป็น % ต่อมูลค่าการเทรด ตัวอย่างเช่น

ผมซื้อหุ้น AMZN (Amazon) จำนวน 50 หุ้น มูลค่า $2000 x 50 = $100000 หรือประมาณ 3 ล้านบาท หากเทรดกับ SCBS จะเสียค่าคอมทั้งหมด 8 cps x 50 = 400 cents หรือประมาณ $4 ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งนึงของค่าคอมขั้นต่ำ ($30) ด้วยซ้ำ

แต่ถ้าหากผมซื้อหุ้นคำสั่งเดียวกันกับ Nomura ซึ่งคิดค่าคอมที่ 0.20% จะได้ $100000 x 0.20% = $200 เลยทีเดียว

เท่ากับว่าคำสั่งเดียวกัน เทรดกับ SCBS เสียค่าคอม $30 แต่เทรดกับโบรคอื่นๆ ที่คิดค่าคอมเป็น % จะเสียได้ถึง $2xx

*การคำนวณนี้ไม่รวม VAT ค่าธรรมเนียม SEC และอื่นๆ ของอเมริกา

scbs-global-trade-review-7

แต่ทั้งนี้ SCBS ก็ยังไม่ใช่โบรคที่ค่าคอมถูกที่สุดอยู่ดี แป่วว เพราะไปเจอว่า Aira คิดค่าคอมแค่ 2 cps และมีขั้นต่ำที่ 10 USD เท่านั้น 555+

ค่าโอนเงินเข้าออกถูกกว่า

เท่าที่หาข้อมูลมา อาจจะไม่ครบเพราะเริ่มขี้เกียจ แต่โบรคส่วนใหญ่เมื่อโอนเงินเข้าออกพอร์ต จะถูกคิดค่าธรรมเนียมประมาณ 500-1000 บาทต่อครั้ง (เช่น กิมเอ็ง คิด 500 บาท BLS คิด 1000 ทั้งขาไป-กลับ) ในขณะที่ SCBS คิดแค่ 500 บาท ขากลับเท่านั้น

นอกจากนี้ SCBS ยังไม่คิดค่าธรรมเนียมแลกเงินอีกด้วย ข้อนี้ถือว่าดีมาก

สะดวกกว่าด้วย SCB Easy App

ต้องยอมรับว่า SCB ทำ Mobile App ได้ดีและสะดวก การเติมเงินเข้าพอร์ตทำได้สะดวก สามารถหักเงินจากบัญชีธนาคารเราเข้าไปได้ทันที (แต่ก็ยังต้องโทรไปหามาร์ เพื่อทำการแปลงสกุลเงินไปตามที่เราต้องการ)

สามารถขอ Demo User ได้

สำหรับคนที่ยังเทรดต่างประเทศไม่คล่อง หรืออยากทดลองใช้ระบบดูก่อน สามารถโทรไปขอ Demo User พร้อมวงเงินจำลองแบบ Click2Win ได้

scbs-global-trade-review-8 demo

สรุป

คะแนนรวม

SCBS ถือว่าทำได้ดีพอสมควรในด้านการยกเว้นค่าธรรมเนียมหลายๆ อย่าง ที่เป็นอุปสรรคของนักลงทุนพอร์ตเล็กไปได้ ส่วนลักษณะการเก็บค่าคอมจะเหมาะกับคน 2 ประเภท คือ พอร์ตใหญ่ มูลค่าต่อเทรดสูง (ไม้ละ 4-5 แสนขึ้นไป) หรือ พอร์ตเล็ก/กลาง แต่เน้นซื้อแล้วถือยาว เทรดไม่บ่อย หน้าตาของระบบเทรดออกจะโล้นๆ ไปหน่อย แต่ก็ใช้งานได้ดี การโอนเงินเข้าพอร์ตสามารถทำผ่าน SCB Easy App ได้สะดวก โดยรวมถือว่ามาถูกทาง หากใครมีบัญชีของ SCB อยู่แล้ว ก็เป็นทางเลือกที่ดี

อย่าลืมติดตามบทความจากบล็อกนี้จากได้ทาง Facebook Page บล็อกนายช่าง และกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีแรงทำบล็อกนี้ต่อไปด้วยนะครับ