how-to-trade-offshore

ในตอนที่แล้วผมเคยได้รีวิววิธีการเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศกับ SCB ในโพสนี้ผมจะมาพูดต่อถึงวิธีซื้อหุ้นต่างประเทศ ซึ่งขั้นตอนการเทรด ศัพท์เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ รวมไปถึงการคิดภาษีของกำไรที่ได้จากการขายหุ้นจะต่างจากประเทศไทยพอสมควร และส่วนมากโบรคเกอร์มักไม่ค่อยมีคู่มือหรือเอกสารให้เราศึกษาเท่าไหรนัก วันนี้ผมได้รวมรวมเกร็ดการเทรดหุ้นในตลาดอเมริกามาเขียนเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ลองติดตามอ่านได้ครับ

Bid Ask และ Level 2 Data

ปกติหากเราเทรดตลาดไทย เราจะชินกับคำว่า Bid และ Offer แต่ตลาดอเมริกาเค้าเรียก Bid Ask สิ่งที่แตกต่างกันมากที่สุดคือ ตลาดไทยจะมีการแบ่งช่องราคาตามราคาของหุ้น เช่น หุ้นราคา 5 -10 บาท จะขยับราคาทีละ 0.05 บาท ส่วนหุ้นราคา 10-25 บาท ขยับครั้งละ 0.10 บาท แต่ตลาดอเมริกา เราสามารถตั้งซื้อขายได้อิสระที่ระดับ penny เสมอไม่ว่าหุ้นราคาจะเท่าไหร เช่นหุ้น Twitter ($TWTR) ราคา $32.50 เราจะตั้งซื้อ $32.01 หรือ $32.27 ก็ได้ เช่นเดียวกันกับหุ้น Google ($GOOG) ราคา $1350 เราสามารถตั้งซื้อที่ $1349.99 หรือ $1349.51 ก็ได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้มี spread เยอะ ทำให้มีโอกาสทำกำไรมากสำหรับพวก daytrader และ bot พวกฝรั่งเสียค่าคอมถูก หุ้นวิ่งแค่ไม่กี่ penny เค้าก็กำไรแล้ว ดังนั้นราคาจะวิ่งขึ้นลงไวมาก ถ้าเราจะเทรดกิน spread สู้กับเค้า เราไม่มีทาง key คำสั่งทันเลยนอกจากจะเขียน bot ไปสู้

*หากใครเคยอ่านหนังสือ Flash Boy ของ Michael Lewis เค้าเล่าขนาด trader บางคนต้องไปวาง server ใกล้ๆ ตลาดหุ้น เพื่อให้คำสั่งตัวเองไปถึงก่อนด้วยซ้ำ เทรดกันที่ระดับเสี้ยววินาที (การเทรดแบบนี้เรียกว่า HFT หรือ High Frequency Trading)

อีกเรื่องหนึ่งที่เราอาจจะเซ็งซักหน่อยก็คือ เราจะมองเห็น Bid Ask แค่ช่องเดียว แต่ตลาดไทยเห็น 5 ช่องสำหรับรายย่อย

ซื้อหุ้นอเมริกาต่างกับไทยยังไง

เทรดหุ้นต่างประเทศ

นอกจากนี้ข้อมูลราคาหุ้นจะยังเป็นแบบ Delay 15 นาทีด้วย -*- ถ้าเราดูที่ภาพข้างบน จะเห็นคำว่า Level II Data subscription required ซึ่งก็คือเราต้องจ่ายค่า fee เพื่อเพิ่มในการดูนั่นเอง สำหรับผมลงทุนยาวอยู่แล้วเลยไม่ค่อยมีปัญหา เวลาจะซื้อหุ้นก็เปิด Yahoo Finance หรือเว็บ NASDAQ โดยตรงเพื่อดูราคาหุ้น realtime

ตลาดเปิดกี่โมง

อเมริกาจะมีช่วงเดือนที่เรียกว่า Daylight Saving Time จะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ทำให้มี 2 ช่วงเวลา

ช่วงเดือน March – November ตลาดเปิด 2 ทุ่มครึ่ง ถึง ตี3

ช่วงเดือน December – February ตลาดเปิด 3 ทุ่มครึ่ง ถึง ตี4

ช่วงเวลา Daylight saving จะเปลี่ยนไปในแต่ละปี ต้องไปดูปฏิทินของเค้าเอง หรือดูใน Google ก็ได้

ค่าคอมในการเทรด

อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้วตอนเปิดพอร์ตว่าค่าคอมของตลาดอเมริกาส่วนใหญ่จะคิดเป็นราคาตายตัว “ต่อหุ้น” ทำให้ซื้อเยอะๆ แล้วคุ้มกว่า (ยกเว้นบางโบรคที่ยังคิดเป็น % ของมูลค่าเทรด) เช่นโบรค SCBS ที่ผมใช้งานอยู่จะคิดราคา 8 cps (cent per share) ดังนั้นไม่ว่าผมจะซื้อหุ้น Tesla ที่ราคา $420 หรือ Google ที่ราคา $1350 จำนวน 100 หุ้น ก็จะต้องเสียค่าคอม $0.08 x 100 = $8 เท่ากันอยู่ดี

การเทรดหุ้นอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ที่คำนวณได้ไม่ถึงขั้นต่ำ ($30) ที่โบรคกำหนด ทำให้สุดท้ายเมื่อรวม VAT กับค่าธรรมเนียมยิบย่อยอีก ค่าคอมสุดท้ายต่อคำสั่งจะอยู่ที่ประมาณ $32 ค่าคอมจะมากกว่านี้เมื่อคุณเทรดมากกว่า 400 หุ้นขึ้นไป

Limit, Market และ Stop

คำสั่ง Trade หลักในตลาดอเมริกาจะมี 3 แบบคือ Limit, Market และ Stop

วิธีซื้อหุ้นอเมริกา

Limit คือเหมือนคำสั่งที่เราเทรดในตลาดไทยเป๊ะๆ เลย คือระบุราคาที่จะซื้อจะขาย ถ้ามี Bid Ask ที่ตรงกันหรือดีกว่าก็จะ Match ให้เลย

Market คือสั่งเคาะราคาตลาดทันที เหมือนกับคำสั่ง MP ในตลาดไทย

Stop คือการสั่งเคาะราคาตลาด เมื่อราคาหุ้นวิ่งไปถึงจุดที่เราตั้งไว้ เช่น สั่ง stop ที่  $100 แปลว่าเมื่อราคาหุ้นมาแตะที่ $100 ให้ส่งคำสั่ง Market ไปตามจำนวนหุ้นที่เรากำหนด

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งแบบเงื่อนไขที่เรียกว่า Take Profit/Stop Loss คือให้ซื้อหรือขายเมื่อถึงจุดราคาที่กำหนด (คล้ายๆ กับการตั้งคำสั่ง Condition ในตลาดไทย)

Duration

เวลาส่งคำสั่งเทรดของตลาดอเมริกาเราจะต้องระบุ Duration ซึ่งให้เลือกหลากหลายมาก เช่น

G.T.C. ย่อมาจาก Good ‘Till Cancel แปลว่าคำสั่งจะค้างอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะ Cancel ถ้ามันไม่ match มันก็จะข้ามวัน ข้ามคืน ข้ามอาทิตย์ไปเรื่อยๆ จนถึงจำนวนวันที่โบรคตั้งไว้ (30-90 วัน) ถึงจะยกเลิกเอง ต้องระวังถ้าเราตั้ง GTC ทิ้งไว้แล้วลืม cancel อาจจะไป match วันอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการได้

Day Order คือเหมือนของไทย คำสั่งหมดอายุ (expired) เมื่อตลาดปิด แนะนำให้ใช้อันนี้เสมอจะปลอดภัยกันลืม

ที่เหลือก็จะเป็นพวก One Day, One Week, One Month, End of Week, etc. อันนี้แล้วแต่ความชอบเลย แต่ส่วนตัวไม่เคยใช้

Buy/Sell กับ Long/Short ???

สำหรับ Buy กับ Long จริงๆ มันคล้ายๆ กัน ต่างกันเล็กน้อยในความหมาย Buy แปลว่าซื้อ แต่ Long แปลว่าเป็นเจ้าของหุ้นหรือมีหุ้นตัวนั้นๆ อยู่ ดังนั้นเวลาส่งคำสั่งซื้อเรามักจะพูดว่า I’m buying $TSLA (ฉันซื้อหุ้น Tesla) ส่วนเวลาบอกว่าเราถือหุ้นตัวนี้อยู่นะ เราจะพูดว่า I’m longing $TSLA เป็นต้น (แต่ใช้แทนกันก็ไม่ผิด)

long หุ้นต่างประเทศ

ส่วน Short กับ Sell นี่จะแตกต่างกันหน่อย โดย Sell แปลว่าการขาย ส่วน Short (หรือ short selling) คือการยืมหุ้นมาขาย เราไม่มีหุ้น แต่ยืมหุ้นมาขายก่อน แล้วค่อยซื้อคืนให้ทีหลัง เป็นการเก็งกำไรหุ้นขาลง ดังนั้นถ้าเราถือหุ้น แล้วเราขายทิ้ง เราจะบอกว่า I’m selling จะไม่บอกว่า I’m shorting

เวลาพูดถึงหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในพอร์ตของเรา (เรียกว่า position) เรามักจะใช้คำว่า Long หรือ Short ในการอธิบาย เช่น I have long position in $TSLA (ผมถือหุ้น Tesla) หรือ I have a short position in $TWTR (ผม short หุ้น Twitter อยู่)

ภาษี

คนอเมริกาต้องเสียภาษีจากการขายหุ้น (Capital Gain) อย่างไรก็ตามหากขาดทุน คนอเมริกันก็สามารถเอาไปหักภาษีได้ ก็ถือว่า Fair ดี คนไทยโชคดีที่เมื่อเทรดในตลาดไทย กำไรจาก Capital Gain นั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อเราไปเทรดในอเมริกา กฏก็จะเปลี่ยนไป กำไรจากการขายหุ้นและการปันผล เราไม่ต้องเสียภาษีของอเมริกาก็จริง (ยกเว้นปีนั้นคุณอยู่อเมริกาเกิน 180 วัน) จะต้องถูกนำมาคิดภาษีในไทย (คิดรวมในรายรับตอนยื่น ภงด ของเราด้วย) แต่จะคิดก็ต่อเมื่อขายแล้วโอนเงินกลับมาไทยเท่านั้น ถ้าขายแล้วแช่ไว้ในพอร์ตก็ยังไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี

การคิดภาษีก็คือเอาส่วนของกำไรที่เราโอนกลับมาไทย มารวมในส่วนรายรับของเรา จากนั้นคำนวณไปตามขั้นบันไดภาษี (ยกเว้นกรณีเทรดในนามนิติบุคคล อันนั้นอีกเรื่อง)

รู้สึกดีใจที่ได้บำรุงประเทศชาติ และเชื่อว่ารัฐบาลจะนำภาษีของเราไปพัฒนาประเทศทุกบาททุกสตางค์อย่างแท้จริง (ประชด)

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราขายหุ้นแล้วมีกำไร แต่ถ้าไม่ถอนเงินกลับภายในปีนั้นแล้วปล่อยยาวข้ามปี ในทางบัญชีจะถือว่าเข้าปีภาษีใหม่ ทำให้กำไรส่วนนั้นไม่ต้องนำมาคิดภาษีอีก เช่น ในปี 2019 คุณซื้อหุ้น Intel ไว้แล้วมีกำไร $1000 จากนั้นขายทั้งหมด แล้วโอนเงินกลับไทยในปีเดียวกัน เท่ากับว่าคุณต้องเอา $1000 หรือประมาณ 30000 บาท ไปรวมในรายรับของคุณตอนคิดภาษีด้วย แต่ถ้าคุณขายในปี 2019 แล้วโอนเงินกลับเข้าไทยในปี 2020 จะถือว่ากำไรที่เกิดขึ้น อยู่ในปีภาษี 2019 ไม่ต้องนำมาคิดในปีภาษี 2020 อีก

ยังไงก็ตามอย่าลืมว่า การซื้อขายหุ้นรวมไปถึงการทิ้งเงินไว้ในพอร์ตข้ามปี ย่อมมีความเสี่ยงจากค่าเงินที่เปลี่ยนไป ยิ่งช่วงปี 2019-2020 เป็นปีที่เงินบาทแข็งค่ามาก การถือเงินไว้นานๆ โดยไม่ลงทุน นอกจากจะเสียโอกาสแล้ว อาจทำให้เราขาดทุนได้ อันนี้ต้องลองพิจารณาดูเองนะครับ

ศัพท์เทคนิคอื่นๆ

Square/ Closed เมื่อเราขายหุ้นที่มีอยู่ทิ้งไปหมด หรือ short หุ้นไว้แล้วซื้อหุ้นจนครบ  เค้าจะเรียกว่า square position หรือ flat position หรือ closed position

Exposure แปลว่า มูลค่าของ position ที่เรามีอยู่ เช่นถ้าคนถามว่า “What’s your exposure in your $FB long position” ก็คือ คุณถือหุ้น Facebook อยู่มูลค่าเท่าไหร เราก็ตอบจำนวนเงินไป

Instrument ประเภทของการลงทุน เช่น EQ (Equity) คือหุ้น ETF คือกองทุน ETF

Symbol ชื่อของ Instrument นั้นๆ เช่น หุ้นของ Google มี Symbol คือ $GOOG และเป็น instrument แบบ EQ

หากเนื้อหาตรงไหนไม่ถูกต้อง รบกวนบอกกันทาง Page ได้นะครับจะได้แก้ไขให้เป็นประโยชน์ต่อคนอ่านต่อๆ ไป 🙂

อย่าลืมติดตามบทความจากบล็อกนี้จากได้ทาง Facebook Page บล็อกนายช่าง และกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีแรงทำบล็อกนี้ต่อไปด้วยนะครับ