how-to-read-visual-acuity-test-result

เคยสงสัยกันไหมครับว่าเวลาไปวัดสายตาที่ร้านแว่น แล้วเวลาเค้าให้ค่าเหล่านั้นกลับมา พบว่ามันไม่ได้มีแค่ค่าความสั้น ความยาวอย่างเดียว แต่มีค่าอื่นๆ อีกเต็มไปหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนด้วยอักษรย่อภาษาอังกฤษ ทำให้ยิ่งไม่เข้าใจกันไปใหญ่ วันนี้เราจะมาดูกันว่า ค่าเหล่านั้นมีความหมายอะไร และสำคัญแค่ไหน

ค่าสายตามีอะไรบ้าง

optical-prescription-example

ในใบวัดสายตามักจะทำเป็นตารางสองบรรทัด สำหรับสายตาแต่ละข้าง โดยข้างขวาจะใช้ตัวย่อ OD (Oculus Dester) และข้างซ้ายจะใช้ตัวย่อ OS (Oculus Sinister)

ค่า Sphere หรือมักย่อว่า SPH อันนี้คือค่าสายตาที่เราคุ้นเคยกันดี ถ้าเป็นลบแสดงว่าสายตาสั้น ถ้าเป็นบวกคือสายตายาว เช่น +2.00D ก็คือยาว 200 และ -7.25D ก็คือสั้น 725 นั่นเอง โดยตัว D ที่ตามหลังนั้นย่อมาจาก Diopter ซึ่งเป็นหน่วยของกำลังเลนส์ สำหรับคนที่ไม่มีสายตา หรือสายตาปกติ บางครั้งจะเขียนว่า 20/20  ที่มาของมันก็คือ การที่เราสามารถอ่านตัวเลข หรือตัวอักษร 20 ตัวที่ติดไว้บนผนัง (Snellen Chart) ได้ครบทุกตัวในระยะห่าง 20 ฟุตนั่นเอง (ภาพข้างล่าง)

snellen-chart

ค่า Cylinder หรือ CYL อันนี้คือค่าสายตาเอียง จะเป็นค่าที่บอกกำลังขยายของเลนส์ที่จะต้องใช้ในการแก้ไขสายตาเอียง หรือเป็นค่าที่บอกว่าตาเอียงมากน้อยเพียงใดนั่นเอง ซึ่งจะต้องดูประกอบกับค่าอื่นๆ ที่จะกล่าวต่อไป หากไม่มีสายตาเอียงก็จะไม่มีค่านี้

ค่า Axis หรือองศาการเอียง เป็นค่าที่บอกว่าภาพที่เห้นนั้นเอียงไปจากความเป้นจริงกี่องศา โดยค่าจะอยู่ในช่วง 1 – 180 องศา จะมีค่านี้ต่อเมื่อตาเอียงเท่านั้น

ค่า Prism อันนี้น้อยคนที่จะมี เป็นการปรับค่าระนาบสายตา สำหรับคนที่ตาเข ตาเหล่ เท่านั้น

ค่า Add หรือบางร้านมักเรียกว่า Power คือค่ากำลังขยายที่เพิ่มเข้าไปพิเศษ (มักพบเวลาสังตัดเลนส์ 2 ชั้น) ใช้สำหรับการอ่านหนังสือหรือมองระยะใกล้สำหรับผู้สูงอายุแทนที่จะต้องมาคอยสลับแว่น

glasses

ค่า PD (Pupillary distance) คือค่าระยะห่างระหว่างรูม่านตาทั้งสองข้าง ก็คือวัดจากกึ่งกลางตาดำของข้างซ้ายไปถึงกึ่งกลางตาดำข้างขวา ค่านี้สำคัญมากทีเดียว เพราะถ้าบางร้านมักง่าย ตัดแว่นโดยไม่วัดค่า PD จะให้แว่นคุณใส่แล้วชัดจริง แต่ไม่สบายตา ใส่แล้วปวดหัว เมื่อยล้าสายตา ค่านี้อาจแยกออกมาได้อีกตามระยะการมองคือ DPD (Distance PD) และ NPD (Near PD) เพราะเวลาเรามองวัตถุในระยะใกล้ ตาของเราจะเข้ามาชิดกันมากขึ้น (นึกภาพคนเราตาเหล่ถ้ามีอะไรมาใกล้ตามากๆ) ดังนั้น ค่า PD จะเปลี่ยนไปตามระยะ ซึ่งถ้าเราต้องการจะตัดแว่นเพื่อมองจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือจะต้องใช้ค่า NPD แต่ถ้าตัดแว่นเพื่อมองระยะไกลจะต้องใช้ค่า DPD

สรุป

จากข้างบนจะเห็นว่า การวัดสายตานั้นมีความละเอียดอ่อนมาก การที่เราไปซื้อแว่นตามตลาดนัดใส่นั้น ค่า PD และกำลังขยายที่ได้มาอาจจะไม่เหมาะสมกับตาของเรา ใส่แล้วชัดจริง แต่ชัดเพราะตาของเราพยายามปรับให้เข้ากับแว่นตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ปวดตา เมื่อยตา และอาจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ (แต่ถ้าตั้งใจซื้อมาใส่แป๊ปเดียว ไม่ได้ใส่อ่านหนังสือ หรือทำงานจริงจัง ก็ใช้ไปเถอะ มันถูกดี นั่งทับแตกก็ไม่เสียดายด้วย 555+)

อย่าลืมติดตามบทความจากบล็อกนี้จากได้ทาง Facebook Page บล็อกนายช่าง และกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีแรงทำบล็อกนี้ต่อไปด้วยนะครับ